องค์การบริหารส่วนตำบลสร้างถ่อน้อย

Sangthonoi Subdistrict Administration Organization

​ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม


ออนไลน์ : 3

หัวข้อ :: ​ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม

ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม
 
1 การนับถือศาสนา
ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธประมาณ 99.5 %  ศาสนาอื่นๆประมาณ  0.5 %  มีสถาบันหรือองค์กรศาสนา คือวัดและที่พักสงฆ์
 
2 ประเพณีและงานประจำปี
ตำบลสร้างถ่อน้อย มีขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และการละเล่นพื้นเมืองที่สำคัญ ที่นิยมปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณ จนถึงปัจจุบัน คือ วัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวอีสานทั่วไป ฮีตสิบสอง คือ การทำบุญในรอบปี มีดังนี้

         1) บุญเข้ากรรม เป็นพิธีสำหรับพระภิกษุสงฆ์ เพื่อการปฏิบัติขององค์ท่านให้พ้นจากอาบัติกิเลสต่างๆมีการให้ทานรักษาศีลภาวนาและแผ่เมตตากำหนดเวลาทำพิธีกันขึ้นในเดือนอ้าย
         2) บุญคูนลาน กำหนดพิธีในระหว่างเดือนยี่ เมื่อนวดข้าวในลานเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะเป็นทำบุญให้ทานเพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวและหมู่บ้าน
         3) บุญข้าวจี่ กำหนดพิธีกันในกลางเดือน 3 เฉพาะ ” ข้าวจี่ ” ก็คือข้าวเหนียวสุกนึ่งสุกแล้วมาปั้นเป็นก้อนอาจมีการทาไข่เพื่อเพิ่มความหอมแล้ว ” อัง ” หรือ ” จี่ไฟ ” ให้สุกอีกทีหนึ่ง ชาวบ้านจะรวมตัวกันทำที่หมู่บ้านหรือตามบ้านหรือไปรวมกันทำที่วัดเสร็จแล้วนำถวายให้พระภิกษุหรือสามเณรได้ฉัน
         4) บุญผะเหวด หรือ บุญมหาชาติ มีการฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดก ถือว่าเป็นการทำบุญมหากุศลที่ยิ่งใหญ่ พุทธศาสนิกชนไปร่วมทำบุญกันที่วัดกันอย่างมากมาย
         5) บุญสรงน้ำ (สงกรานต์) โดยการตักน้ำเย็นที่ใสสะอาดประพรมด้วยน้ำหอมเจือแล้วนำไปสงพระพุทธรูป พระภิกษุสงฆ์ สามเณร และผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ
         6) บุญบั้งไฟ เรียกอีกอย่างว่าบุญเดือนหกก็ได้ ความมุ่งหมายคือ ทำบุญกุศลที่วัดเสร็จแล้ว ตอนบ่ายก็จะมีพิธีจุดบั้งไฟเพื่อเป็นการบวงสรวงพระยาแถนเทวดาบนท้องฟ้าบันดาลให้ฝนตก
         7) บุญซำฮะ ก็คือ “ชำระ “ หมายความว่าต้องการชำระสิ่งที่รกรุงรังให้หมดมลทินเครื่องเศร้าหมองต่างๆโดยเฉพาะผ้านุ่ง ผ้าห่ม เครื่องใช้ที่สกปรกต้องซักฟอกชำระให้สะอาดด้วยการทำบุญให้ทาน
         8) บุญเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนจะไปร่วมทำบุญเยี่ยงประเพณีที่วัดมีเครื่องถวายสักการะที่สำคัญก็คือ การหล่อเทียนพรรษา โดยการสลักเทียนเป็นลวดลายตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงาม
         9) บุญข้าวประดับดิน โดยการนำเอาข้าวห่อ ขนมหวาน และหมากพลู บุหรี่ นำไปวางไว้บนพื้นดินตามที่ต่างๆเป็นการทำบุญอุทิศให้แก่ญาติพี่น้องที่ตายไปแล้ว นอกจากนั้นเมื่อทำบุญดังกล่าวแล้วก็ยังได้มีการเลี้ยงอาหารกันในระหว่างครอบครัวและแจกจ่ายไปตามญาติมิตรที่เคารพนับถือทั้งหลายในวันนี้ชาวบ้านก็จะพากันเข้าวัดรักษาศีลฟังธรรมเทศนาอีกด้วย
         10) บุญข้าวสาก ชาวบ้านได้นำข้าวต้ม ขนม เลี้ยงดูแจกจ่ายกันในตอนเพลของวันนี้ ชาวบ้านได้นำสำรับกับข้าวและเครื่องไทยทานเพื่อนำเข้าไปถวายพระภิกษุในวัด
         11) บุญออกพรรษา ชาวบ้านและพระสงฆ์ตลอดจน สามเณรจะช่วยกันจัดทำไต้ประทีปขึ้นในวัดตรงหน้าพระอุโบสถ แล้วนำประทีปธูปเทียนมาจุดบูชาพระรัตนตรัย
         12) บุญกฐิน ชาวบ้านได้พากันทำบุญกฐินหลังออกพรรษา ซึ่งถือตามคตินิยมในทางพระพุทธศาสนา นอกจากบุญกฐินแล้วก็ยังมีบุญทอดผ้าป่า
3 ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภาษาถิ่น
ภูมิปัญญาท้องถิ่นในเขตตำบลสร้างถ่อน้อย

         1) การแปรรูปจากไม้ไผ่ นำมาจักสานหรือประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น กระติบข้าว หวด ตะกร้า กระบุง กระด้ง กระทอ ตลอดจนเครื่องมือในการดักจับสัตว์ และยังได้ประยุกต์สานเป็นของใช้ในครัวเรือนหลายประเภท เช่น กระจาดผลไม้ กระบอกใส่เครื่องเขียน ตะกร้าใส่เสื้อผ้า เป็นต้น
         2) การใช้สมุนไพรที่มีในท้องถิ่นมาต้มกินหรือฝนทา ในการรักษาโรคต่างๆ เช่น รักษาแผลภายนอก ภายใน โรคนิ่ว โรคไต โรคกระเพาะ และอื่นๆอีกมากมาย
การใช้ภาษาของประชาชนในเขตตำบลสร้างถ่อน้อย ส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยถิ่นอีสาน หรือภาษาลาวอีสาน
 

4  สินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึก

         1) ผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม เป็นผ้าที่ทอด้วยมือ ที่วิจิตรงดงามมีลักษณะพิเศษ มีมากมายหลายประเภทตามประโยชน์ใช้สอย เช่นผ้าคลุมไหล่ ผ้าคลุมโต๊ะ  สไบใหญ่เล็ก ชุดรับแขก ผ้าตัดเสื้อ เป็นต้น
         2) ผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ นำมาจักสานหรือประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น กระติบข้าว หวด ตะกร้า กระบุง กระด้ง กระทอ ตลอดจนเครื่องมือในการดักจับสัตว์ และยังได้ประยุกต์สานเป็นของใช้ในครัวเรือนหลายประเภท เช่น กระจาดผลไม้ กระบอกใส่เครื่องเขียน ตะกร้าใส่เสื้อผ้า เป็นต้น
วันที่ : 27 พฤศจิกายน 2561   View : 2356