องค์การบริหารส่วนตำบลสร้างถ่อน้อย

Sangthonoi Subdistrict Administration Organization

โครงการรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ตามโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้าตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี


ออนไลน์ : 11

Gallery :: โครงการรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ตามโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้าตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี
โครงการรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562
 ตามโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้าตามพระปณิธานศาสตราจารย์
ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี
…………………………………………………………………………..


 
หลักการและเหตุผล
               ด้วยศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงมีพระปณิธานเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ ในการดูแลทุกข์สุขของพสกนิกรชาวไทย รวมถึงสรรพชีวิตภายใต้ร่มพระบารมีให้ได้รับความผาสุข ตราบจนทุกวันนี้ และขออัญเชิญพระกระแสรับสั่งเมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตรการดำเนินงานของศูนย์ดูแลสุนัขจรจัดของกองทัพเรือ  ณ  อำเภอสัตหีบ  จังหวัดชลบุรี  เมื่อวันที่             30 เมษายน 2559 ว่า “ทรงห่วงใยปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าที่เป็นปัญหาสำคัญของชาติ” และทรงมีพระประสงค์ให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไป
               โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ (Hydrophobia) เป็นโรคติดเชื้อของระบบประสาทส่วนกลาง ที่มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า สามารถติดต่อมาสู่มนุษย์ได้ ในประเทศไทยสัตว์พาหะนำโรคที่สำคัญคือสุนัขและแมวโรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากเรบี้ไวรัส (Rabies virus)      ซึ่งเป็นอาร์ เอน เอ ไวรัส (RNA virus) มีการติดต่อจากสัตว์ป่วยที่มีเชื้อไวรัสอยู่ในร่างกายไปสู่มนุษย์หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวอื่นผ่านทางน้ำลาย  โดยผ่านทางการกัด  การข่วน  และการเลีย  บริเวณที่มีบาดแผลระยะฟักตัวของโรคพิษสุนัขบ้าเป็นระยะเวลานับตั้งแต่เชื้อโรคไวรัสเข้าสู่ร่างกายจนก่อให้แสดงอาการของโรค     โดยสามารถพบได้นานถึง 6 เดือน ซึ่งจะต่างกันไปตามชนิดสัตว์ สำหรับระยะฟักตัวของโรคพิษสุนัขบ้าในคน จะใช้เวลาประมาณ 2 - 8 สัปดาห์ หรืออาจจะสั้นเพียง 5 วัน  แต่ในบางรายอาจยาวนานเป็นปีได้  โดยระยะฟักตัวจะสั้นหรือยาวนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังนี้ ความรุนแรงของบาดแผล บริเวณที่ถูกกัด ระยะห่าง      ของบาดแผลกับสมอง และเชื้อจากสัตว์ป่าซึ่งอันตรายกว่าสัตว์เลี้ยง
               ปัญหาคนถูกสุนัขกัด ในประเทศไทย นับว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญมากอย่าหนึ่ง ผู้ที่ถูกสุนัขกัดในแต่ละปีมีจำนวนเท่าใดไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในระบบที่ต้องรายงาน แต่จากข้อมูลผู้ถูกสุนัขกัดที่มารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุข  (ระบบรายงาน  ร.36) พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี  หากรวมผู้ที่ไปรับบริการจากสถานบริการของมหาวิทยาลัยและเอกชน ด้วยแล้วประมาณการว่าน่าจะถึงปีละ 5 แสนคน ซึ่งรัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินสูงถึง 1,000 ล้านบาทต่อปี นับว่าเป็นภาระที่รัฐบาลต้องนำเงินภาษีอากรมาใช้จ่ายเพื่อการนี้จำนวนมาก หากมีผู้ถูกสุนัขกัดและผู้ที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าลดลง ค่าใช้จ่ายที่ลดลงจะนำไปทำประโยชน์อื่นๆ ได้มากมาย ผู้ที่มาขอรับบริการเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการดูแลบาดแผล และไม่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างถูกต้อง ทำให้ยังมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้อย่างต่อเนื่อง
               สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลสร้างถ่อน้อย  จากการตรวจหัวสัตว์ ตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบัน ให้ผลลบ ได้รับการประเมินเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า แต่ยังต้องเฝ้าระวังการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ทุกปี เนื่องจากพบว่า ในแต่ละปีมีผู้ถูกสุนัขกัดเพิ่มขึ้นทุกปี
               เพื่อแก้ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า ที่เป็นปัญหาสำคัญของชาติ ให้หมดไป ตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้โอนจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เงินอุดหนุนทั่วไป เป็นเงินอุดหนุนสำหรับขับเคลื่อนโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้าตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี องค์การบริหารส่วนตำบลสร้างถ่อน้อย จึงจัดทำโครงการรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562  ตามโครงการสัตว์ปลอดโรค         คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ   วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี

วัตถุประสงค์
      1.สุนัขและแมวในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลสร้างถ่อน้อยได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
      2.สุนัขและแมวในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลสร้างถ่อน้อยได้รับการสำรวจขึ้นทะเบียน

เป้าหมาย
               สุนัขและแมวที่มี / ไม่มีเจ้าของในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลสร้างถ่อน้อย จำนวน 1,200 ตัว

ตัวชี้วัด
               ร้อยละ 100 ของสุนัขและแมวในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลสร้างถ่อน้อยที่สำรวจขึ้นทะเบียน ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

วิธีการดำเนินงาน
1.      ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้า
2.      สำรวจจำนวนสัตว์และขึ้นทะเบียนเพื่อจัดทำประวัติสุนัขและแมวในเขตพื้นที่
3.    ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่หมู่บ้าน ในสุนัขและแมวที่ขึ้นทะเบียนไว้             โดยสัตวแพทย์หรือผู้ได้รับมอบหมาย
4.      รายงานผลการดำเนินงาน

ระยะเวลาดำเนินการ
                 15  มีนาคม  -  30  เมษายน  2562

งบประมาณ
               จากกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เงินอุดหนุนทั่วไป แผนงานสาธารณสุข งานบริการสาธารณสุขและสาธารณสุขอื่น  หมวดวัสดุ  ตามโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า    ตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี   ตั้งไว้  37,500  บาท และหมวดค่าใช้สอย  ประเภทรายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งบริการ  7,500 บาท เพื่อจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้
               - วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าพร้อมอุปกรณ์ (จำนวน 1,200 โด๊สๆ ละ 30 บาท) = 36,000 บาท    - จ้างเหมาบริการสำหรับสำรวจและขึ้นทะเบียนสัตว์ (ตัวละ 6 บาท/ปี)          = 7,200 บาท
                              
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
                ตำบลสร้างถ่อน้อยเป็นพื้นที่สัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า
 

ผู้รับผิดชอบโครงการ
               กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม  องค์การบริหารส่วนตำบลสร้างถ่อน้อย 



 
 
 
วันที่ : 15 มีนาคม 2562   View : 3738